วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

แนะนำตัว&การบ้าน







ชื่อ นางสาวทิพย์มุกดา  มาลัย   (Thipmookda Malai) 


 ชื่อเล่น มุก (Mook) 

วันเกิด 14 เมษายน 2536 อายุ 20 ปี 

กำลังศึกษาอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วข.สุรินทร์ 

คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี 

 สาขาวิชา วิทยาการคอมพิวเตอร์ ปี 3  

 สีที่ชอบ เขียว  

E-mail Thipmookda@gmail.com 

ตัวการ์ตูนที่ชอบ sponge bob  

เพลงที่ชอบ   เดินด้วยกันไหม 


งบประมาณด้านการศึกษา 

ประเทศไทยถูก  World Economic Forum   ประเมินว่า มีคุณภาพการศึกษา อยู่ในอันดับที่ ๘  ในกลุ่มประชาคมอาเซียน  โดยประเทศที่ถูกประเมิว่า มีคุณภาพการศึกษา อันดับ ๑.คือ สิงคโปร์   ๒.มาเลเซีย ๓.บรูไน  ๔. ฟิลิปปินส์  ๕. อินโดนีเซีย ๖. กัมพูชา ๗. เวียตนาม  ๘.ไทย (ไม่มี ลาวและพม่า)

แต่ จากการสืบค้นข้อมูล ชี้ว่า การจัดงบประมาณเพื่อการศึกษาของประเทศไทย   ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๑ รัฐบาลไทยได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อบริหารการศึกษา มากเป็นอันดับ ๑ และจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปีมาโดยตลอด ดังต่อไปนี้

ปี ๒๕๕๑  จัดสรรงบประมาณ ให้ ฯ จำนวน   ๓๐๑,๔๓๗,๔๐๐,๐๐๐   บาท คิดเป็น ร้อยละ๑๘.๒ ของงบประมาณประจำปี

ปี ๒๕๕๒ จัดสรรงบประมาณ ให้ฯจำนวน  ๓๕๐,๕๕๖,๕๙๑,๒๐๐  บาท คิดเป็น ร้อยละ ๑๘ ของงบประมาณประจำปี

ปี ๒๕๕๓  จัดสรรงบประมาณ ให้ ฯ จำนวน  ๓๔๖,๗๑๓,๐๙๓,๓๐๐ บาท  คิดเป็น ร้อยละ ๒๐.๔ ของงบประมาณประจำปี

ปี ๒๕๕๔ จัดสรรงบประมาณ ให้ ฯ จำนวน  ๓๙๒,๔๕๔,๐๓๗,๘๐๐ บาท  คิดเป็น ร้อยละ ๑๘.๑ ของงบประมาณประจำปี

ปี ๒๕๕๕ จัดสรรงบประมาณ ให้ ฯ จำนวน  ๔๒๐,๔๙๐,๐๓๒,๖๐๐ บาท คิดเป็น ร้อยละ  ๑๗.๗ ของงบประมาณประจำปี

ปี ๒๕๕๖  จัดสรรงบประมาณ  ให้ ฯ จำนวน ๔๖๐,๔๑๑,๖๔๘,๘๐๐ บาท คิดเป็น  ร้อยละ ๑๙.๑๘ ของงบประมาณประจำปี (ข้อมูลจาก: งบประมาณแผ่นดิน)

สำหรับ ปีงบประมาณ ๒๕๕๗ รัฐบาลได้จัดสรร งบประมาณ ให้ กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน  ๔๘๑,๓๓๗ ล้านบาท  ซึ่งเป็นงบประมาณ เพื่อการศึกษา ที่สูงมากในกลุ่ม อาเซียน (ข้อมูลจาก: กนก วงษ์ตระหง่าน)

จากข้อมูลงบประมาณ  จะเห็นว่ารัฐบาลไทย ได้ทุ่มงบประมาณ เพื่อจัดการศึกษา  มาจนถึงปัจจุบัน จำนวนมหาศาล  แต่  ทำไมผลที่ปรากฏออกมา จึงตรงกันข้าม กลับปรากฏว่า คุณภาพการศึกษาของประเทศไทยต่ำสุด ในกลุ่มชาติอาเซียน  ?

 จากการวิเคราะห์ น่าจะมีสาเหตุจากปัจจัย ดังต่อไปนี้

๑. ความยากจนของประชาชน ในชนบทห่างไกล  โดย ข้อมูล จาก หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ  วันที่  ๑๒ พ.ย. ๒๕๕๔ รายงานว่า  นายวัชรินทร์ จำปี  รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) บอกว่า ผู้ที่ไม่ได้เข้าเรียน ส่วนใหญ่ เป็นคนไทยที่อยู่ในชนบท  ห่างไกลและมีความยากจน  นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทย ในชีวิตประจำวัน เช่น ชาวเขา หรือประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือไม่ก็เป็นผู้ที่ไม่ประสงค์จะเข้าเรียน เนื่องจากอายุมาก หรือต้องทำงานตลอดเวลา ทำให้ไม่มีเวลาไปเรียนหนังสือ

๒. ปัจจุบัน มีคนไทย ไม่รู้หนังสือ  อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ประมาณ ๒ ล้าน คน (ข้อมูลจาก:Unesco ,September 10,2012)

๓. คนไทย ไม่มีนิสัยรักการอ่าน  จากสถิติ ปรากฏว่า คนไทยอ่านหนังสือ  ๘ บรรทัด จากค่าเฉลี่ย ของคนทั้งประเทศ ๖๕ ล้านคน  แต่เพื่อนบ้าน อย่าง สิงคโปร์,เวียตนาม อ่านปีละ ๕เล่ม  ประเทศ จีนอ่านปีละ ๖ เล่ม  ยุโรป อ่านปีละ ๑๖ เล่ม ( ข้อมูลจาก:สำนักงานสถิติแห่งชาติ)

๔.คุณภาพของโรงเรียนและบุคลากร(ครู) ในเมืองและในชนบทที่ห่างไกล แตกต่างกันอย่างมาก โดย โรงเรียนในชนบทบางแห่ง ขาดแคลน ครู, อุปกรณ์การเรียน การสอน บางโรงเรียน ครูคนเดียวสอนนักเรียนหลายห้องในเวลาเดียวกัน  อีกทั้งครูไม่มีเวลาสอนนักเรียนเต็มประสิทธิภาพเนื่องจากมีกิจกรรมอื่นให้รับผิดชอบ  เป็นสาเหตุให้นักเรียนเสียโอกาสในการเรียน

๕. การบริหารการศึกษาของประเทศไทยยังขาดประสิทธิภาพ ผู้บริหารการศึกษาขาดวิสัยทัศน์ และไม่จริงจังกับการบริหารการศึกษาให้มีคุณภาพ แม้จะปรากฏว่า มีนักเรียนไทยบางส่วนเรียนดีได้รับรางวัลการแข่งขันด้านต่างๆ แต่ก็เป็นนักเรียนส่วนน้อยเมื่อเทียบส่วนกับนักเรียนทั้งประเทศและจะเป็นนักเรียนที่ฉลาดและเรียนเก่งโดยธรรมชาติอยู่แล้ว   

๖.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้วางนโยบายระดับสูงสุด ของประเทศไทย มีการเปลี่ยนตัวบ่อยมากและผู้มาดำรงตำแหน่งส่วนใหญ่ ไม่ใช่ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา นโยบายการศึกษาจึงเปลี่ยนไป เปลี่ยนมา ไม่แน่นอน ทำให้การศึกษาของไทยไม่มีคุณภาพ

๗.ปัญหาการคอร์รัปชั่น  จากผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นตลอด ๑๖ ปี (พ.ศ.๒๕๓๘-๒๕๕๔) ของประเทศไทย ได้คะแนน เฉลี่ย ๓.๓๑ (ประเทศที่มีการจัดการคอร์รัปชั่นดีขึ้นแล้วต้องมีคะแนนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า ๕ คะแนน) ซึ่งถือว่าสถานการณ์คอร์รัปชั่นของไทยยังมีแนวโน้ม อยู่ในระดับสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีการจัดอันดับดีกว่า อาทิ สิงคโปร์และฮ่องกง (ศิริวรรณ มนตระผดุง: วารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มิถุนายน ๒๕๕๕)  การคอร์รัปชั่นในประเทศไทยมีในทุกวงการไม่เว้นแม้แต่ในวงการศึกษา ดังปรากฏตัวอย่างการทุจริตในวงการศึกษา  กรณีจัดซื้ออุปกรณ์การเรียน ในโรงเรียนอาชีวะศึกษา เมื่อไม่นานมานี้

           การที่คุณภาพการศึกษาของประเทศไทยต่ำมากเช่นนี้  เป็นสัญญาณว่า คุณภาพของประชากรไทยต่ำเช่นกัน  เพราะการให้การศึกษาเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของประชากร  เมื่อคุณภาพของประชากรต่ำการพัฒนาประเทศก็ไม่สามารถก้าวไปสู่เป้าหมายได้

จึงเป็นเรื่องที่น่า วิตก อย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย

ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งปรับปรุงการศึกษา ให้มีคุณภาพ โดยเร่งด่วน ก่อนทุกอย่างจะสายเกินแก้.


การศึกษาไทย ใช้งบประมาณมากที่สุด แต่ผลลัพธ์กลับตรงข้าม




ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้กับกระทรวงศึกษาธิการมากเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอด ยกเว้นปี 2555 ที่ตกมาเป็นอันดับ 2 โดยงบประมาณแต่ละปีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งหมด และจัดสรรงบประมาณในวงเงินที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี
ล่าสุด คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2556 ให้กับกระทรวงศึกษาธิการมากที่สุดเป็นจำนวนเงิน 460,411,648,800 บาท หรือประมาณร้อยละ 19.18 ของงบประมาณรวม 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับในปี 2556 นี้สูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 4 หมื่นล้านบาท
อีกทั้งสัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาต่อจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และงบประมาณด้านการศึกษาต่องบประมาณแผ่นดิน อยู่ในอัตราที่สูง หากดูย้อนไป 15 ปี ตั้งแต่ปี 2540 -2554 จะพบว่า งบประมาณด้านการศึกษาต่อจีดีพี โดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.12 และต่ำสุดคือร้อยละ 3.7 ในปี 2548 และสูงสุดที่ร้อยละ 4.48 ในปี 2543 ส่วนงบประมาณด้านการศึกษาต่องบประมาณแผ่นดินนั้น 15 ปีที่ผ่านมายังไม่มีปีไหนที่ต่ำกว่าร้อยละ 20 เลย
จากการรวบรวมข้อมูลคุณภาพหรือผลลัพธ์ทางการศึกษาที่สะท้อนออกมา และถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ลงทุนด้วยจำนวนเงินในปริมาณใกล้เคียงกับเราอย่างสิงคโปร์ จะพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระหว่างไทยกับสิงคโปร์ยังไกลกันอยู่มาก
จากผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาที่จัดโดย สถาบันเพื่อการพัฒนาการจัดการ หรือ IMD(Institute for Management Development) พบว่าตั้งแต่ปี 2548-2553 ประเทศไทยอยู่ในลำดับ 40 กว่า รั้งท้ายมาโดยตลอด หรือติด 1 ใน 14 ประเทศสุดท้ายทุกปี จากทั้งหมดประมาณ 55 -61 ประเทศ ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 10 ต้นๆ และประเทศมาเลเชียที่นำประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 30 กว่าๆ
หรือผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกโดยนิตยสารไทมส์ไฮเออร์เอดูเคชันซัปพลีเมนต์ ก็พบว่ามีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับ 1 ใน 200 ของโลกในปี 2005 -2006 และ 2008-2009
และในการจัดอันดับครั้งล่าสุด ในปี 2010-2011 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยมหิดลเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับ 1 ใน 400 มหาวิทยาลัยทั่วโลก โดยอยู่ในลำดับที่ 351-400
สำหรับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยเพียงครั้งเดียวในปี พ.ศ. 2549 โดยแบ่งผลการจัดอันดับออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการเรียนการสอน และด้านการวิจัย ซึ่งทั้ง 2 ด้านสรุปผลออกมาได้ 5 กลุ่มตามคะแนนที่ได้รับคือ 1. ดีเลิศ (ร้อยละ 75 ขึ้นไป) 2. ดีเยี่ยม (ร้อยละ 70-75) 3. ดี (ร้อยละ 65-69) 4. ดีพอใช้ (ร้อยละ 55-64) 5. ต้องปรับปรุง (ร้อยละ 55 ลงไป)
จากมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการจัดอันดับทั้งหมด 50 แห่งทั่วประเทศ พบว่าทั้งในด้านการเรียนการสอนและด้านการวิจัย มีมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเกณฑ์ข้อ1-3 ทางด้านการเรียนการสอน 14 แห่ง ด้านวิจัย 14 แห่ง เท่านั้น เมื่อคิดเป็นสัดส่วน ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นไปเพียงร้อยละ 28 เท่านั้น
ทั้งนี้การจัดอันดับดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าไม่น่าเชื่อถือ ด้วยตัวชี้วัดที่เน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์มากเกินไป ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของมหาวิทยาลัยบางแห่งที่เน้นสายสังคมศาสตร์มากกว่า ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งปฏิเสธที่จะเข้าร่วมจัดอันดับ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในส่วนของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของทางมหาวิทยาลัย เว็บโอเมตริกซ์ได้จัดอันดับเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกไว้ 500 อันดับ เป็นประจำทุกเดือนมกราคมและกรกฎาคมของปี โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนหลักๆ คือ เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่เผยแพร่ข้อมูลหรือผลงานทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอ มีข้อมูลเผยแพร่บนเว็บไซต์ที่หลากหลายรูปแบบ เช่น มีทั้ง .doc, .pdf และสามารถสืบค้นข้อมูลย้อนหลังกลับไปได้มาก
ในการจัดอันดับตั้งแต่กรกฎาคม 2552 – กรกฎาคม 2554 มีมหาวิทยาลัยของไทยติดอันดับอยู่บ้างครั้งละประมาณ 3-4 แห่ง โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในอันดับที่ 300 กว่าเป็นต้นไป มีเพียงบางปีเท่านั้นที่มหาวิทยาลัยจะอยู่ในอันดับสูงๆ เช่น กรกฎาคม 2552 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อยู่อันดับที่ 175 และมกราคม 2553 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่อันดับที่ 229
แต่ล่าสุด ในเดือนมกราคม ปี 2555 กลับมีมหาวิทยาลัยของไทยติด 1 ใน 500 อันดับของโลกมากถึง 7 แห่ง โดย 6 อันดับแรกติด 1 ใน 300 มหาวิทยาลัยทั่วโลก ได้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับ 116 ของโลก อันดับที่ 12 ของเอเชีย อันดับที่ 2 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอันดับ 1 ของไทย
ส่วนมหาวิทยาลัยอีก 6 แห่งที่เหลือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในอันดับโลกที่ 200, 207, 230, 234, 296 และ 481 ตามลำดับ
ด้านผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O -NET) ที่ผ่านมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2552, ปีการศึกษา 2553 และปีการศึกษา 2554 นั้น ได้สะท้อนคุณภาพการศึกษาไทยออกมาว่า ผลการสอบโอเน็ตมีค่าเฉลี่ยรวมทั้งประเทศไม่ถึงร้อยละ 50 เช่นเดียวกับค่าเฉลี่ยแยกตามรายวิชา ซึ่งเป็นเหมือนกันหมดในทุกระดับตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเป็นไปในทางเดียวกันทั้ง 3 ปี
โดยเฉพาะผลคะแนนในวิชาหลักทั้ง 5 วิชา คือ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์นั้น ตลอดทั้ง 3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีค่าเฉลี่ยของวิชาใดที่เกินร้อยละ 50 เลย ไม่ว่าจะเป็นผลคะแนนโอเน็ตของระดับชั้น ป.6 ม.3 หรือว่า ม.6
ในส่วนของผลคะแนนโอเน็ตของนักเรียนชั้น ป.6 พบว่า คะแนนเฉลี่ยรวมของปี 2553 ต่ำลงจากปี 2552 แต่คะแนนเพิ่มขึ้นมากในปี 2554 โดยหากดูเฉพาะกลุ่มวิชาหลัก คะแนนสูงสุดอยู่ที่วิชาวิทยาศาสตร์ร้อยละ 38.67 ในปี 2552 และวิชาสังคมศึกษาร้อยละ 47.07, 52.22 ในปี 2553 และ 2554 ตามลำดับ ในขณะที่วิชาภาษาอังกฤษมีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดทุกปี อยู่ที่ร้อยละ 31.75, 20.99 และ 38.37 ตามลำดับ
สำหรับผลคะแนนโอเน็ตของนักเรียนชั้น ม.3 นั้น มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่ 3 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่มีวิชาใดมีค่าเฉลี่ยเกินร้อยละ 50 ยกเว้นวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา ด้านกลุ่มวิชาหลัก พบว่า วิชาสังคมศึกษามีค่าเฉลี่ยสูงสุดร้อยละ 39.70 ในปี 2552 และวิชาภาษาไทยค่าเฉลี่ยร้อยละ 42.80 และ 48.11 ในปี 2553 และ 2554 ตามลำดับ ส่วนวิชาที่ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำสุดทุกปีคือภาษาอังกฤษ มีคะแนนเฉลี่ย 22.54, 16.19, 30.49 ตามลำดับ
ด้านผลคะแนนโอเน็ตของนักเรียนชั้น ม.6 มีแนวโน้มคะแนนที่ต่ำลงเรื่อยๆ และเป็นระดับชั้นที่มีผลคะแนนน้อยที่สุด โดยในปี 2552 มีคะแนนเฉลี่ยรายวิชาหลักจากมากไปน้อยดังนี้ ภาษาไทยร้อยละ 46.46 สังคมศึกษา 36 วิทยาศาสตร์ร้อยละ 29.05 คณิตศาสตร์ร้อยละ 28.56 และภาษาอังกฤษ 23.98 ในปี 2553 คือ สังคมศึกษา 46.51 ภาษาไทยร้อยละ 42.61 วิทยาศาสตร์ร้อยละ 30.9 ภาษาอังกฤษ 19.22 และคณิตศาสตร์ร้อยละ 14.99 และในปี 2554 คือ ภาษาไทยร้อยละ 41.88 สังคมศึกษา 33.39 วิทยาศาสตร์ร้อยละ 27.9 คณิตศาสตร์ร้อยละ 22.73 และภาษาอังกฤษร้อยละ 21.80
ส่วนอีก 3 วิชาที่เหลือคือ สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ และการงานอาชีพและเทคโนโลยี พบว่า นักเรียนในทุกระดับชั้นสามารถทำคะแนนในกลุ่มวิชาเหล่านี้ได้ดีกว่าวิชาหลัก โดยสามารถทำคะแนนวิชาสุขศึกษาและพลศึกษาได้มากที่สุด คือเกินร้อยละ 50 ในทุกระดับชั้นและทุกปี ยกเว้นผลสอบของนักเรียนชั้น ม.6 ปี 2552 ที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 45.37
จากสถิตินักเรียนที่ออกกลางคันในปีการศึกษา 2548-2552 พบว่า ความยากจนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยไม่ได้รับการศึกษา แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเรียนฟรีและให้เงินอุดหนุนเพื่อการมากที่สุดก็ตาม แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ผู้เรียนต้องจ่ายให้กับสถานศึกษาที่เป็นของรัฐบาลก็ยังราคาสูงอยู่ดี เช่น ค่าบำรุงรักษาห้องสมุด ห้องปฏิบัติการต่างๆ ในโรงเรียน หรือค่าหน่วยกิตที่เพิ่มขึ้นของมหาวิทยาลัยนอกระบบ
แม้แต่คนที่ได้รับการศึกษาเรียนจบมีปริญญาก็ประสบปัญหาว่างงานหรือทำงานไม่ตรงกับสาย
จากรายงานการวิจัยของมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ในงานสัมมนา “Thailand at the Crossroads: อนาคตไทย…เราเลือกได้” พบว่า อัตราการว่างงานของไทยปี 2010 เป็นเยาวชนมากถึงร้อยละ 45 และร้อยละ 75 ของเยาวชนที่เรียนจบมาทำงานไม่ตรงวุฒิการศึกษา
เนื่องจากมีแรงงานเพียงส่วนน้อยที่มีเงินพอสำหรับเรียนหนังสือ และเมื่อเรียนจบแล้วมีโอกาสไม่มากที่จะได้ทำงาน ซึ่งในจำนวนนี้มีคนที่ทำงานตรงวุฒิเพียงร้อยละ 25 ในกลุ่มงานที่ต้องใช้ทักษะ พบว่า มีการจ้างแรงงานจำนวน 18.6 ล้านคน แต่เป็นคนที่จบมาตรงในระดับ ปวช. และ ปวส. เพียง 2.9 ล้านคน ซึ่งแรงงานที่ขาดอีก 15.7 ล้านคนนั้นถูกเติมเต็มด้วยแรงงานวุฒิมัธยม 14.3 ล้านคน และแรงงานปริญญาตรีที่จบมาล้นตลาดอีก 0.9 ล้านคน



 สารนิเทศมีความสำคัญกับการใช้ชีวิตประจำวัน !!


1. เพื่อการศึกษา (Education) สารนิเทศที่จัดเก็บและให้บริการในห้องสมุด และศูนย์สารนิเทศทั่ว ๆ ไป ล้วนแล้วแต่ให้ ประโยชน์ในการเก็บข้อมูลเบื้องต้นต่อการศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน ความหมายของคำว่าการศึกษามีความหมายกว้าง ไม่เน้นถึงความหมายเพื่อการศึกษาอยู่แต่ในโรงเรียน และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ เท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึง การศึกษาด้วย ตนเองอีกด้วย สารนิเทศเพื่อการศึกษาได้แก่ หนังสือ แบบเรียน ตำราเรียน คู่มือครู หนังสือประกอบการเรียนการสอน และจากสภาพสาร นิเทศที่เปลี่ยนไปมีสื่อสารนิเทศประเภทโสตทัศนวัสดุเข้ามามีบทบาทต่อการเรียนการสอน เช่นการใช้วีดีทัศน์ ประกอบการเรียน การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือช่วยสอนเป็นต้น สารนิเทศเพื่อการศึกษา จึงเป็นสื่อสำคัญเพื่อการพัฒนาคน ทางด้านการศึกษา 
2. เพื่อให้ความรู้ (Information) คนในสังคมมีความจำเป็นต้องทราบความ เปลี่ยนแปลงไปในสังคม ต้องทราบข่าวในสังคม ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน การติดต่อสื่อสารในสังคม แต่ละวันจะได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สารนิเทศทุกประเภทล้วนแล้วแต่ให้ข่าวสาร ที่เกิดขึ้น ในสังคม โดยเฉพาะสารนิเทศประเภทวารสาร หนังสือพิมพ์ ตลอดจนสื่อสารนิเทศ ประเภทวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ล้วนแล้วแต่มีบทบาทอย่างสูง ต่อการติดตามข่าวใน สังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน สารนิเทศต่าง ๆ จึงมีความสำคัญต่อการขจัดความสงสัย ในเรื่อง ใคร่รู้ของเหตุการณ์ในสังคมให้หมดสิ้นไป 
3. เพื่อการค้นคว้า (Research) ในยุคสังคมข่าวสารปัจจุบัน สารนิเทศที่ตอบสนองในเรื่องการค้นคว้า วิจัย มีบทบาทอย่างสูง ต่อการพัฒนาคน และพัฒนาประเทศในแต่ละประเทศต่างพยายามสนับสนุน งบประมาณในการทำวิจัย และ การค้นคว้าทาง เทคโนโลยี ต่างๆ สารนิเทศทางด้านการศึกษาค้นคว้า ไม่ว่าจะจัดทำให้บริการอยู่ในรูปใด เช่น บัตร สาระสังเขป สมุดสถิติ วิทยานิพนธ์ รายงานการวิจัย ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในการก่อให้เกิดสารนิเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้าที่ทันสมัย และนำไปใช้ ในการพัฒนาประเทศทุก ๆ ด้านได้ ต่อไป 
4. เพื่อความจรรโลงใจ (Inspiration) สารนิเทศต่างๆ นอกจากผู้ใช้จะได้ประโยชน์ทางด้านการได้ สารนิเทศเพื่อการศึกษา ได้รับความรู้แล้ว สารนิเทศบางประเภท และบางชนิดยังอำนวยประโยชน์ ก่อให้เกิดความจรรโลงใจ ทำให้เกิดความสุขทางจิตใจ เช่น การอ่านหนังสือวรรณกรรมที่สำคัญ ช่วยก่อให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้งในความดีงามใน ความคิดของผู้อื่น 
5.เพื่อความบันเทิง (Recreation) สังคมสารนิเทศในปัจจุบัน มีสื่อสารนิเทศเพื่อความบันเทิง ในการพักผ่อนหย่อนใจมากๆ แต่ละชนิดล้วนแล้วแต่ตอบสนองสาร นิเทศเพื่อความบันเทิงส่วนตัวหรือครอบครัว เช่น การอ่านหนังสือที่ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว หรือการเพลิดเพลินชมรายการจากโทรทัศน์ หรือ ฟังเพลงที่ชื่นชอบจากวิทยุ สื่อสารนิเทศเพื่อ การบันเทิง มีการผลิตมากมาย เพื่อสนองความต้องการ ของผู้ใช้สารนิเทศประเภทนี้อย่างทั่วถึง และอำนวยความสะดวกสบายต่อการใช้เพื่อความบันเทิงได้อย่างเต็มที่ 
ความสำคัญของสารนิเทศในสังคม เป็นความจำเป็นของคนในสังคมที่ต้องใช้ สารนิเทศเพื่อพัฒนาตนเอง และใช้สารนิเทศ อย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาประเทศโดยส่วนรวม สารนิเทศจึงมีความสำคัญ ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพของสังคม ให้ก้าวหน้าอย่าง ไม่มีที่สิ้นสุด